วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความกตัญญูหมายถึงอะไร

               ความกตัญญู คือ การรู้สึกสำนึกในคุณ ด้วยแสดงความเคารพ นับถือ เชื่อฟัง และช่วยเหลือ
ในกิจการงานต่าง ๆ การกระทำเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
และหน้าที่การงาน ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี การที่เยาวชนไทยได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีในเรื่องของความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างภูมิ คุ้มกันให้สังคม การเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอบรมและส่งเสริมพฤติกรรมของเยาวชนให้มีคุณลักษณะของการเป็นคนมีความกตัญญู ความตระหนักรู้ในคุณของบุคคล สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อตนเองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม     
        รู้กันแล้วใช่ไหมคะว่าความกตัญญูหมายถึงอะไร แล้วรู้หรือเปล่าล่ะว่า 
พฤติกรรมความกตัญญูมีลักษณะอย่างไร  ???

                 ปัจจุบันมีกระแสความเจริญทางเทคโนโลยีอย่างไร้ขีดจำกัด สิ่งยั่วยุให้เกิดการเบี่ยงเบน
ของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเยาวชน ตลอดจนการสร้างความเจริญทางวัตถุที่มากไปจนลืมคำนึงถึงความเจริญทางด้านจิตใจ ตลอดจนความต้องการทาง ด้านวัตถุเพื่อมาสนองความต้องการทางกาย 
ทางใจในการดำรงชีวิตประจำวันของสมาชิกในสังคมนั้น ทำให้เกิดการแย่งชิงโอกาส เพื่อการประกอบการเลี้ยงชีพ โดยลืมคำนึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในจิตใจ ลืมคำนึงถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทยที่มีความกตัญญู รู้จักตอบแทนบุญคุณ ซึ่งความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยรักษาและพยุงสังคม ไทย ผู้ที่มีความกตัญญู คือ มีจิตสำนึกในคุณท่านและคิดตอบแทน ส่วนผู้ที่ไม่มีความกตัญญูคือคนอกตัญญู ไม่รู้คุณ ย่อมถูกประณามว่า เป็นคนไม่ดี ไม่น่าคบหา ความกตัญญูเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ ในสังคมมนุษย์ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งอื่น ชีวิตด้านกายภาพดำรงอยู่ได้เพราะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบุคคลต่างๆ มีพ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง เป็นต้น 
ความกตัญญูนี้เป็นคุณธรรมที่มนุษย์ควรปฏิบัติไม่เฉพาะต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่รวมไปถึงต่อสัตว์และพืชด้วย ผู้ที่มีความกตัญญูย่อมจะทำตนเองให้มีความสุขและทำผู้อื่นให้มีความสุขด้วย ลักษณะของคนมีความกตัญญูตามหลักพระพุทธศาสนา มี 2 ลักษณะ ได้แก่ 
                1.กตัญญูชั้นสามัญ คือ กตัญญูอย่างสามัญทั่วไป หมายถึง รู้อุปการคุณที่บุคคลอื่นทำให้เรา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกตเวที คือ การตอบแทนคุณ ซึ่งเด็กจะยอมรับว่าใครมีคุณก็ต่อเมื่อเขาทำอะไรให้กับตนเท่านั้น เช่น ยอมรับว่าพ่อแม่มีพระคุณ เพราะได้เลี้ยงดูมา ยอมรับว่าครูมีพระคุณ เพราะได้อบรม
สั่งสอน ยอมรับว่าญาติพี่น้องมีบุญคุณ เพราะเคยให้ข้าวให้ขนม
                2. กตัญญูชั้นสัตบุรุษ เป็นความกตัญญูชั้นสูง หมายถึง การรู้จักคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวบุคคลอื่น ใครมีความดีก็รู้ว่าเขาเป็นคนดี ไม่ว่าจะทำอะไรให้เราหรือไม่ก็ตาม ไม่ยึดเอาตัวเองเป็นเครื่องวัดความดีของคนอื่น เป็นการตัดสินความดีด้วยความดี และรู้จนกระทั่งว่าธรรมทั้งหลายมีคุณค่าอย่างไร และพยายามถ่ายทอดคุณลักษณะที่ดีนั้นมาใส่ตัวเรา เพื่อจะได้ทำความดีเป็นแบบอย่างที่ดีเหมือนเขา

ส่วนการแสดงออกต่อผู้มีพระคุณมีลักษณะ  ดังนี้ 

  • ประกาศคุณท่าน คือ การประกาศว่าผู้มีพระคุณของเราดีอย่างไรบ้าง เช่น ถ้าผู้มีพระคุณเป็นพ่อแม่ ทำโดยพูดถึงพ่อแม่ให้คนอื่นฟังได้ว่า ท่านดีกับเราอย่างไร กิจกรรมที่นิยมทำกันมากคือ การทำบัตรอวยพรวันพ่อและวันแม่ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ ประกาศที่ตัวเอง เพราะเป็นลูกและได้รับการอบรมมาจากพ่อแม่ ฉะนั้น ความประพฤติของเด็กจะเป็นตัวประกาศคุณพ่อแม่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
  •  ตอบแทนคุณท่าน คือ เมื่อรู้ว่าท่านมีคุณหรือมีอุปการะ ต้องตอบแทน เช่น ถ้าผู้มีพระคุณเป็นพ่อแม่ ลูกสามารถตอบแทนได้โดย เป็นเด็กดี ช่วยงานบ้านง่ายๆ ประพฤติตนเป็นลูกที่ดี เป็นต้น 


เด็กจะได้รับประโยชน์อะไรจากความกตัญญู ?

              ความกตัญญูทำให้สถาบันครอบครัวและสังคมมั่นคง ซึ่งนับว่าเป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์รู้จักการกระทำหน้าที่อันเหมาะสมของตนเอง โดยเริ่มจากมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในสถาบันครอบครัว โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นบุพการี และลูกปฏิบัติหน้าที่ต่อพ่อแม่ในฐานะผู้มีความกตัญญู ซึ่งจะขยายผลในระดับสังคมที่กว้างออกไป ความกตัญญูช่วยให้โลกอยู่รอดปลอดภัย ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาคนชราไม่มีคนเลี้ยง ปัญหาสงคราม ปัญหาความโหดร้ายทารุณ ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจจะหมดไป สภาวะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะไม่ถูกทำลาย เพราะคนมีความกตัญญูย่อมระลึกถึงบุญคุณของป่าไม้ ทุ่งนา แม่น้ำ ลำธาร ถนนหนทาง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ช่วยกันอนุรักษ์ บำรุง รักษาให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างสมดุล การที่เด็กเป็นคนกตัญญูกตเวที ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเด็กมีดังนี้
  • ได้รับคำสรรเสริญจากสังคมส่วนรวม
  • กระทำการใดๆที่ดีก็จะสำเร็จเนื่องจากได้รับการช่วยเหลือจากสังคม
  • ได้รับการยกย่องจากสังคม
  • เป็นคนที่สังคมต้องการและยอมรับ

ประโยชน์ของความกตัญญู และโทษของการไม่มีความกตัญญูทั้งต่อตนเองและต่อสังคม บุคคลผู้มีความกตัญญูเป็นคนดีและรักษาความดีไว้ได้ เป็นผู้น่าคบค้าสมาคม ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ความกตัญญูยังทำให้คนในสังคมช่วยเหลือกัน พึ่งพาอาศัยอยู่กันด้วยดี มีความร่มเย็นเป็นสุข ส่วนโทษของการไม่มีความกตัญญู ย่อมทำให้ตนเองและสังคม มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความเสื่อม หาคนคบค้าสมาคมได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งตนเองและสังคม ย่อมจะได้รับโทษของการไม่มีความกตัญญู

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยส่งเสริมความกตัญญูให้ลูกได้อย่างไร?

       แนวทางการจัดกิจกรรมของพ่อแม่ที่ช่วยส่งเสริมความกตัญญู เป็นเรื่องที่ไม่ยากถ้าพ่อแม่ให้การเลี้ยงดูเอาใจใส่ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในการสร้างพฤติกรรม ดังนี้
                    กิจกรรมทางตรง คือ การส่งเสริมให้ลูกได้ปฏิบัติและทำกิจกรรมที่เป็นการปลูกฝังให้เกิดความกตัญญู เช่น สอนให้ลูกช่วยยกน้ำดื่มมาให้พ่อแม่ เมื่อกลับมาจากทำงาน การช่วยถือของเล็กๆน้อยๆ 
เมื่อต้องไปซื้อของ หรือการที่ลูกช่วยงานบ้านง่ายๆ พ่อแม่ควรชื่นชม และเน้นถึงความสำคัญของพฤติกรรมว่าลูกได้แสดงออกถึงความกตัญญูต่อพ่อแม่แล้ว 

กิจกรรมทางอ้อม คือ การเป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่ต้องแสดงพฤติกรรมความกตัญญูให้ลูกเห็น เช่น การซื้อของหรือการทำอาหารให้คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือญาติผู้ใหญ่ที่มีพระคุณ ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการมอบสิ่งของ หรืออธิบายสาเหตุที่ต้องแสดงความกตัญญูต่อท่านเหล่านั้นว่า ท่านมีบุญคุณอย่างไรต่อเรา ถ้าไม่ท่านเหล่านั้น เราจะเป็นอย่างไร และให้ลูกวิเคราะห์ผลของการทำกิจกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือความรู้สึกอิ่มเอมทางจิตใจ เมื่อได้แสดงความกตัญญูต่อผู้อื่น

นอกจากพ่อแม่แล้ว ครูบาอาจรย์ยังสามารถส่งเสริมความกตัญญูของเด็กนักเรียนของท่านได้อีกนะคะ

โดยครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูในวันพ่อ วันแม่ วันไหว้ครู ให้เด็กได้พูดถึงบุคคลในครอบครัวในสาระเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ปลูกฝังคุณธรรมให้เป็นเครื่องกำกับตลอดชีวิต ด้วยคุณธรรมความดีงามทั้งหลายจะเกิดกับเด็กได้ถาวรจึงควรที่จะปลูกฝังความกตัญญูลงในจิตใจของเด็กพร้อมกับการให้วิชาความรู้คู่กันไปเพราะสังคมในปัจจุบันนั้นไม่ได้เพียงต้องการคนที่เก่ง แต่ ต้องการทั้งคนที่เก่งและดี มีสมองควบคู่กับความดี เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า หากต่างฝ่ายต่างส่งเสริมเชื่อว่า ประเทศไทยในวันข้างหน้าต้องมีแต่บุคคลซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความรู้แถมยังเป็นคนดี












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น